rPET นำมา รีไซเคิล ลดปัญหาขยะ
จากแนวโน้มในทุกภาคส่วนของโลกที่ได้ตระหนักถึงภาวะโลกร้อน (Global Warming) วิกฤติขยะล้นโลก โดยเฉพาะขยะพลาสติกในมหาสมุทร ทำให้มีแนวคิดจากหลายทิศทางของโลกเกี่ยวกับเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ทำให้ตลาดของ rPET(รีไซเคิลเพท) ขยายตัวมากขึ้นจากปริมาณการบริโภคอาหาร เครื่องดื่มที่มีคาร์บอเนตและไม่มีคาร์บอเนตทั่วโลก ทั้งในตลาดของประเทศกำลังพัฒนา เช่น เอเชียตะวันออก เอเชียใต้คือจีนและอินเดีย ซึ่งมีประชากรประมาณครึ่งหนึ่งของโลก
นอกจากนั้นหลายประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาพลาสติกที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จึงส่งเสริมให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดรีไซเคิลได้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เยอรมนีเป็นประเทศที่มีอัตราการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดของสหภาพยุโรปถึง 94% สำหรับในเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการนำพลาสติกมารีไซเคิลถึง 83%
มีการนำ rPETมาใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารในรูปแบบต่างๆด้วย เช่น ขวด เหยือก และบรรจุสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น เครื่องสำอาง สบู่ แชมพู โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดโลกปริมาณ rPETจะเพิ่มขึ้น 6.5% ใน ค.ศ.2019-2029 นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มของโลกในการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน (Subsatinable Packaging) และเหตุผลต่างๆดังนี้
- ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม มีการใช้ขวด rPETเนื่องจากแข็งแรง ผลิตเป็นรูปร่างที่ต้องการตามขนาดที่กำหนด และราคาเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
- มีเทคโนโลยีรองรับการผลิตขวด rPETในปริมาณมากและขนาดเป็นไปตามความต้องการ
- อุตสาหกรรมเครื่องดื่มได้กำหนดให้ขวด rPETเป็นคำตอบที่ใช้กับเศรษฐิกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ Substainable Packaging ในการบรรจุเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ตั้งแต่น้ำ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ฯลฯ โพลิเอทิลีน เทเรพทาเลต (Polyethylene Terephthalate) หรือเรียกสั้นๆว่า PET เป็นพลาสติกที่ปลอดภัย มีความใส แข็งแรง และสามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยมีคุณสมบัติเหมือน PET ที่ยังไม่รีไซเคิล หรือเรียกว่า Virgin PET
ค.ศ. 2008 : ขวด PET ที่ใช้แล้วนำมารีไซเคิลและจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา 1.45 พันล้านปอนด์ อัตราการรีไซเคิลในสหรัฐอเมริกา 31.2% ใน ค.ศ. 2013
ค.ศ. 2012 : ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้นำขวด PET มารีไซเคิล 81%
ค.ศ. 2018 : ประเทศฟินแลนด์ได้นำขวด PET มารีไซเคิล 90%
อัตราส่วนการรีไซเคิลขวด PET ของโลก
ญี่ปุ่น
72%
สหภาพยุโรป
48%
สหรัฐอเมริกา
29%
อินเดีย
90%
การพัฒนา “F to P Direct Recycle Technology” ขวด rPET สำหรับบรรจุน้ำอัดลม
บริษัท Kyoei ได้นำ “F to P Direct Recycle Technology” มารีไซเคิลขวดพลาสติกและผลิต rPETขวดแรกในประเทศญี่ปุ่นด้วยเทคโนโลยีการผลิตแบบขวดสู่ขวด (Bottle to Bottle) ซึ่งเทคโนโลยีนี้ จะลดขั้นตอนการรีไซเคิลได้ 4 ขั้นตอน เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีเดิมและรีไซเคิล PET ได้ 100%
เทคโนโลยี “F to P Direct Recycle Technology” เป็นการพัฒนาของบริษัท Kyoei บริษัท S.I.P.A.S.p.A. ประเทศอิตาลี เป็นบริษัทผลิตเครื่องมือการผลิตขวดพลาสติกโดยใช้พิมพ์ (Molding Equipment) บริษัท Erema GmbH ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นบริษัทรีไซเคิลพลาสติกระดับโลก และบริษัท Suntory Beverage & Food Ltd. บริษัทผลิตอาหารและเครื่องดื่มขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งได้นำ rPETมาบรรจุชาอู่หลงวางตลาดใน ค.ศ. 2018
ใน พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีการผลิตขวด PET ออกสู่ตลาดมากกว่า 185,000 ตัน และมีเพียงไม่ถึงครึ่งที่ถูกจัดเก็บและนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่เหมาะสม ขวดพลาสติกเกือบแสนตันต้องนำไปฝังกลบ และบางส่วนก็เล็ดลอดลงสู่ทะเล กลายเป็นขยะสร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศและเป็นปัญหาในระดับโลก
ดังนั้น ภาครัฐของประเทศไทย โดยสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยาจึงมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 (2548) “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” กำลังเร่งศึกษาแนวทางการรีไซเคิลเพท โดยใช้แนวทางของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐอเมริกาหรือ สหภาพยุโรป เพื่อพัฒนาเป็นแนวทางให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติกของประเทศไทยนำมาใช้ เป็นการตอบสนองนโนบายเศรศฐกิจหมุนเวียน และขยะพลาสติกของประเทศไทยต่อไป