10 ไอเดียแพ็กเกจจิ้ง ปี 2020
หลายๆคนคงมีความคิดจะสร้างแบรนด์ของตนเอง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างในการจะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่น่าจดจำและติดตลาด นอกเหนือจากการแนะนำในส่วนของการผลิต ด้วยการทำธุรกิจแบบ OEM&ODM ที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการ ในวันนี้เราจะมาเพิ่มเติมในส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันเลย นั่นก็คือ แพ็กเกจจิ้ง (Packaging)
การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่น ถือเป็นประตูด่านแรกที่มีส่วนช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคให้ลองเปิดใจกับสินค้าใหม่ได้ง่ายขึ้น
งานวิจัย C Space กล่าวว่า กลุ่มผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้วมันจะให้ความสำคัญกับงานออกแบบบรรจุภัณฑ์เทียบเท่ากับประโยชน์ของสินค้า
ผลสำรวจของ Bizongo พบว่า 63% ของผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าจากแพ็กเกจจิ้งที่น่าสนใจ แม้ว่าการซื้อของ Online จะเป็น new normal ของยุคปัจจุบัน ก็ยังมีผู้บริโภคกว่า 79% ที่ยังเลือกซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคทั่วไปจากห้างสรรพสินค้าอยู่ มากกว่าการซื้อใน Online
นอกจากนี้ 46% ของผู้บริโภคยุคใหม่ ยอมเปิดใจให้กับสินค้าใหม่ๆที่วางจำหน่ายตามจลาดมากขึ้น จากพฤติกรรมการเลือกซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ SMEs, Start Up, รวมถึงธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ ได้มีโอกาสก้าวเข้ามาแข่งขันกันมากยิ่งขึ้น
นลินี ทองแท้ ผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์ด้านการออกแบบกราฟฟิคและผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ทำหน้าที่มากกว่าแค่การบรรจุสิ่งของแต่ถูกนำมาใช้เพื่อการสื่อสารทางการตลาดมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านของการสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์สินค้า (Brand Identity) การสร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภค (Intimacy) ไปจนถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อเชื่อมการสื่อสารไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆของแบรนด์ (Integration) โดยคาดว่าเทรนการออกแบบมาแรงในปี 2563 ซึ่งน่าจะได้รับกระแสตอบรับและการพูดถึงบนโลกโซเชียลจากผู้บริโภคบ่อยครั้งได้แก่
1. มินิมอลดีไซน์ (Minimalism)
เทรนด์การออกแบบที่คงความเรียบง่ายและสื่อสารได้ชัดเจน และยังได้รับการประยุกต์ใช้กับโปรดักซ์ดีไซน์ในชีวิตประจำวันรอบตัว ซึ่งความเป็นมินิมอลดีไซน์ ไม่เพียงแต่จะต้องจืดชืดเสมอไป แต่ยังสามารถเติมความมีชีวิตชีวาด้วยสีสันเข้าไปให้สนุกขึ้นอีกด้วย
2. การไล่โทนสี และการใช้สีสันฉูดฉาด (Vibrant Gradients)
การไล่เฉดสียังคงเป็นกระแสในการออกแบบประเภทอื่นๆ แต่สำหรับบรรจุภัณฑ์ยังคงมีให้เห็นไม่มากนัก ซึ่งคาดว่าในปี 2020 นี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของวงการออกแบบที่เน้นการไล่เฉดสีอ่อนไปแก่ เปลี่ยนคู่สี โทนนีออนเรืองแสง เพิ่มมิติให้กับตัวบรรจุภัณฑ์มากขึ้น
3. กราฟิกแบน (Flat Illustration)
เป็นการออกแบบแนว 2 มิติ ที่เน้นความเรียบง่าย ตัดส่วนที่รกไม่จำเป็นออก ทำให้ผู้บริโภคโฟกัสเพียงแต่ส่วนสำคัญ เหมาะสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ภาพในการเล่าเรื่องราว
4. เน้นตัวอักษรและคำบรรยาย (Big Text & Bold Copies)
เป็นการออกแบบที่นิยมใช้กันทั่วไปในท้องตลาด คือการเน้นตัวอักษร และคำบรรยายขนาดใหญ่ ทำให้ดูสะดุดสายตาได้ดี สื่อสารกับผู้บริโภคอย่างครบถ้วน เข้าใจง่ายกว่าบรรยายด้วยภาพ
5. ตัวหนังสือและภาพวาดลายเส้น (Doodle & Hand-drawn Lines)
เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยเด็ก-วัยทำงาน เป็นการออกแบบด้วยตัวอักษรและภาพวาดลายเส้น ให้ความรู้สึกลื่นไหล และสนุกสนานกับสินค้ามากขึ้น
6. ดีไซน์ย้อนสมัย หรือวินเทจ (Vintage)
เป็นรูปแบบการดีไซน์ที่มีความคลาสสิค และแทบจะอยู่ในทุกงานออกแบบไม่ว่ายุคสมัยไหน เหมาะสำหรับสินค้าที่เป็นงานใช้ขั้นตอนเยอะ ให้ความรู้สึกถึงความพิถีพิถัน ใส่ใจในคุณภาพสินค้า
7. วัสดุรักษ์โลก (Eco-Friendly)
ในปีที่ผ่านมาเริ่มมีการรณรงค์งดใช้พลาสติกมากขึ้น จึงมีการออกแบบไม่ใช่แค่สร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
8. โทนสีขาวดำ (Black & White)
เป็นเทรนด์ที่มีความคลาสสิคและโดดเด่นไม่แพ้กัน การใช้สีดำจะเพิ่มความหนักแน่นให้กับตัวสินค้า เหมาะสำหรับสินค้าของผู้ชาย แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการนำสีขาวดำ ในสไตล์มินิมอลขึ้น เป็นเทรนด์ใหม่ที่ใช้ได้กับทุกผลิตภัณฑ์ของผู้หญิงและผู้ชาย
9. การใช้ภาพถ่ายสื่อสาร (Photography)
อีกหนึ่งเทรนด์การออกแบบที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในกลุ่มบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ด้วยการใช้ภาพถ่ายจริงมาประกอบเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงตัวสินค้า รวมถึงรูปของอาหารที่สวยงามเหมาะสม ยังช่วยเพิ่มความอยากอาหารและสะท้อนคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้พบเห็นอีกด้วย
10. สมาร์ทแพ็กเกจจิ้ง (Smart Packaging)
เทรนด์การออกแบบเชิงฟังก์ชั่นการใช้งานที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ แต่ยังไม่แพร่หลายมากในประเทศไทย โดยเน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์มาพัฒนาขึ้นเป็นแพ็กเกจจิ้งที่มีคุณสมบัติการใช้งานเพิ่มขึ้น เช่นแพ็กเกจที่สีจะเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิของสินค้า
ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดี นักออกแบบและนักการตลาดควรทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาสินค้าให้สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของแบรนด์ และข้อมูลของผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงยังสามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคผ่านดีไซน์การออกแบบ นอกจากนี้ควรพัฒนาบรรจุภัณฑืให้เป็นได้มากกว่าภาชนะบรรจุสินค้า ยกตัวอย่าง ซองขนม ที่สามารถฉีกแล้วพับเก็บไว้ทานต่อวันหลังได้, ขวดเครื่องดื่มที่สะท้อนแสงในเวลากลางคืน ตอบโจทย์วัยรุ่นที่ชอบปาร์ตี้สังสรรค์ เพิ่มการรับรู้ในไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่บนโลกโซเชี่ยลได้อีกด้วย
ที่มา : วารสารบรรจุภัณฑ์ไทย Thai Packaging Newsletter ฉบับที่ 137 กันยายน-ตุลาคม 2563